วิธีการเลือก โฮสติ้ง/VPS จากจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซด์พร้อมกัน ( Concurrent Users )
คำถาม ที่ทีมงาน PhalconHost ต้องตอบคำถามลูกค้าบ่อยๆ สำหรับลูกค้าที่เข้ามาเลือกใช้บริการ โฮสติ้ง/VPS สอบถามคำถามประมาณนี้ครับ
– พึ่งทำเว็บไซด์ใหม่ จะใช้โฮสติ้งหรือ VPS ดี ?
– จะใช้บริการโฮสติ้ง หรือ VPS ดีกว่ากัน ?
– ต้องการย้ายโฮสติ้ง เพราะที่เดิมรู้สึกช้า ?
– ต้องการย้ายโฮสติ้งเพราะที่เดิมรับไม่ไหว แต่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ใช้แค่โฮสติ้งได้ไหม ?
– ที่นี่มีปัญหาเรื่องช้าไหม ?
– ที่เดิมล่มบ่อยๆ ที่นี่ล่มบ่อยไหม ?
ซึ่งคำถามลักษณะนี้ ดูเหมือนจะตอบง่าย แต่ในความจริงแล้ว คำตอบจะไม่ตายตัว แต่จะมีตัวแปรอย่างหนึ่งที่ทำให้การตอบคำถามนี้ง่ายขึ้น คือ
คนเข้าใช้งานเว็บไซด์พร้อมกัน ( Concurrent Users ) เท่าไหร่ ?
วิธีดูจำนวนคนเข้าใช้งานพร้อมกันง่ายที่สุดคือ ดูในระบบ Google Analytics > Realtime เพราะแต่ละเว็บไซด์น่าจะต้องมีการติดตั้ง Google Analytics เพื่อดูสถิติการเข้าใช้งานอยู่แล้ว (ถ้ายังไม่ติดตั้ง แนะนำให้นำมาติดตั้งครับ)
หรือถ้าใครมีการใช้งาน VPS และใช้ระบบจัดการโฮสติ้ง DirectAdmin อยู่แล้ว สามารถเข้าไปดูได้ที่เมนู DirectAdmin > Service Monitoring ดังรูปที่ 2
ซึ่งดูในบรรทัด httpd และลองนับจำนวน pid ที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ระบบเว็บไซด์โดยรวมก็จะมีจำนวน Concurrent Users ประมาณนั้นครับ
*สังเกตว่า: ที่หัวข้อ; Memory Usage จะบอกว่า มีการใช้งาน RAM ไปเท่าไหร่ ซึ่งจะเป็นค่าที่นำไปเลือกใช้ โฮสติ้ง/VPS ได้อีกด้วยครับ
ถึงแม้ตอนนี้ จะรู้จำนวน Concurrent Users แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถเลือกได้เลยว่าจะใช้ โฮสติ้ง / VPS ได้เลยนะครับ จะต้องดูอีกอย่างหนึ่งประกอบ คือ ลักษณะการเข้าใช้งานของเว็บไซด์ ว่าเป็นอย่างไร
ลักษณะการเข้าใช้งานของเว็บไซด์นี้ อาจจะดูง่ายๆ ดังนี้
กรณีที่ 1: เข้าใช้งานแบบคงที่ หรือ มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ได้
เว็บไซด์ลักษณะนี้ คือ เว็บไซด์ที่ทำขึ้นใหม่ หรือ เว็บไซด์นำเสนอข้อมูล บริษัท, องค์กร, หน่วยงาน, เว็บไซด์ส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งจะมีการเข้าใช้้งานพร้อมกัน (Concurrent) ประมาณ 1-10 คน หรือ คิดเป็นการเข้าใช้งานเว็บไซด์ประมาณ 1-1,000 คนต่อวัน
กรณีที่ 2: เข้าใช้งานไม่คงที่ หรือ เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือ ใช้งานสูงมากเป็นบางช่วงเวลา
เว็บไซด์ลักษณะนี้ มักจะเป็นเว็บไซด์ประเภทข่าว บทความ ที่นำไปแชร์ใน Social Media เมื่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใน Social Media เห็นเนื้อหาบนระบบ Social ที่ถูกแชร์ไปนั้น ก็จะพยายามเข้าใช้งานเว็บไซด์พร้อมๆกันในทันที ทำให้ Traffic ของเว็บไซด์จะพุ่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน หากไม่ได้ออกแบบเว็บไซด์ให้รองรับการเข้าใช้งานพร้อมๆกันในลักษณะนี้ไว้อย่างดีพอ ไม่ว่าจะใช้บริการ โฮสติ้ง หรือ VPS ดีแค่ไหน ก็ล่มทุกรายครับ
*แต่ถ้าหากไม่ใช่เว็บไซด์ลักษณะนี้ แต่มี Traffic ขึ้นสูงแบบฉับพลัน อาจจะมีปัญหาเรื่อง โดนยิงเว็บไซด์ หรือ เว็บไซด์ติด Malware ก็ขอไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้นะครับ
กรณีที่ 3: เว็บไซด์ที่มีการประมวลผลอย่างหนัก
ซึ่งเป็นเว็บไซด์ประเภท E-commerce ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาคำนวน จัดหมวดหมู่ หรือการค้นหาข้อมูลที่มีเงื่อนไขซับซ้อน ทำให้เว็บไซด์ต้องมีการคำนวนผลลัพธ์ตลอดเวลา ซึ่งเว็บไซด์ประเภทนี้ อาจจะมีการเข้าใช้งานน้อย หรือ เข้าใช้งานมาก ก็มีการใช้ทรัพยากรด้านการประมวลผล (CPU) อย่างหนักกว่าเว็บไซด์ปกติ
แต่ถ้าเป็นเว็บไซด์ E-commerce บางประเภทที่ปรับแต่งมาอย่างดี หรือ ไม่มีข้อมูลเยอะจนเกินไป เว็บไซด์ประเภทนี้ อาจจะใช้ทรัพยากรน้อย เท่ากับเว็บไซด์ปกติทั่วไป ก็มีเยอะครับ
เมื่อเราทราบรายละเอียด Concurrent Users และ ลักษณะการเข้าใช้งานเว็บไซด์แล้ว เราก็จะพอตอบคำถามได้แล้วว่า จะเลือกใช้บริการ โฮสติ้ง หรือ VPS
รูปแบบที่ 1: ใช้โฮสติ้ง : ถ้าเป็นเว็บไซด์ นำเสนอข้อมูลบริษัท, องค์กร, ส่วนตัว ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก คนเข้าใช้งานพร้อมกันไม่เกิน 1-10 Concurrent หรือเว็บไซด์ E-commerce ซึ่งไม่มีการประมวลผลหนัก ซึ่งลักษณะการเข้าใช้งานเว็บไซด์ ก็เป็นแบบคงที่ เพราะไม่ได้นำไปปั่นเนื้อหาให้ได้รับความสนใจอย่างฉับพลันแต่อย่างใด ท่านสามารถใช้งานระบบโฮสติ้งได้อย่างสบายๆ ครับ
รูปแบบที่ 2: ใช้โฮสติ้ง หรือ VPS ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ทรัพยากร ซึ่งเว็บไซด์ประเภทนี้คือ เว็บไซด์ที่อาจจะมีการประมวลผลอย่างหนัก เช่น E-commerce เป็นต้น ถ้าหากปรับแต่งเว็บไซด์ได้ดี ไม่ให้กินทรัพยากร CPU มากเกินไป อาจจะใช้เพียงโฮสติ้งปกติได้ แต่ถ้ามีการใช้ CPU หนัก ผู้ให้บริการจะแจ้งให้อัพเกรดเป็น VPS แทน
รูปแบบที่ 3: ใช้ VPS: ถ้าเป็นเว็บไซด์ อย่างที่กล่าวมาในข้อ 1 แต่มีการใช้งานเกิน 10 Concurrent หรือมีการประมวลผล (CPU) อย่างหนัก แต่ถ้าท่านเลือกใช้บริการแชร์โฮสติ้งปกติ ท่านอาจจะถูกแจ้งให้อัพเกรดเป็น VPS แทน เพราะการใช้งานเกิน 10 Concurrent จะทำให้ระบบโฮสติ้งต้องถูกจองทรัพยากร (RAM) ตลอดเวลา ซึ่งราคาที่ท่านจ่ายไป จะไม่สะท้อนความเป็นจริงในการใช้งาน
รูปแบบที่ 4: ใช้ VPS: ถ้าเป็นเว็บไซด์ข่าว/บทความ ที่นำไปแชร์บน Social Media อย่างนี้จะต้องใช้งาน VPS เท่านั้นครับ เพราะถ้านำเว็บไซด์ลักษณะนี้มาอยู่บนระบบโฮสติ้งร่วมกับคนอื่น โอกาสที่จะทำให้ระบบโฮสติ้งค้าง เป็นไปได้สูงมาก หากไม่ทำเว็บไซด์ในเหมาะสม เพราะผู้ให้บริการโฮสติ้งจะไม่สามารถไปบังคับให้ลูกค้าปรับแต่งเว็บไซด์ได้ ดังนั้นหากเว็บไซด์ลักษณะนี้ทำเว็บไซด์ไม่ดีเพียงพอ เวลาล่มขึ้นมาจะได้ล่มเฉพาะภายใน VPS ของตนเอง และหาทางแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป แต่ถ้าทำเว็บไซด์ยังไม่ดีเพียงพอ แล้วนำมาอยู่รวมกับโฮสติ้งปกติ ปัญหาก็็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น เว็บไซด์บางเวลาก็เร็ว บางเวลาก็ช้า บางทีก็ล่มไปเลย เป็นต้น
รูปแบบที่ 5: ใช้ VPS: เป็นเว็บไซด์คล้ายๆแบบที่ 1 แต่ต้องการติดตั้ง/ปรับแต่งค่าตัวแปรหลักของ apache, php.ini, mysql บางตัว เพื่อให้รันเว็บไซด์ได้ ถ้าหากไม่ได้ปรับแต่งเพิ่มเติม จะรันไม่ได้ อย่างนี้ก็จำเป็นต้องใช้ VPS เพราะ ถ้าเป็นระบบโฮสติ้ง ท่านจะไม่สามารถปรับแต่งค่าเหล่านี้ได้เอง ต้องใช้งานตามที่ผู้ให้บริการตั้งค่ามาแล้วเท่านั้น
รูปแบบที่ 6: ใช้ VPS: เป็นเว็บไซด์ที่คล้ายๆแบบที่ 1 แต่ต้องการความเป็นส่วนตัว ต้องการความเสถียร ไม่ต้องการแชร์ร่วมกับใคร ก็อาจจะพิจารณาเลือกใช้ VPS ครับ โดยอาจจะใช้ package เริ่มต้นก่อนก็ได้ครับ
สรุป: การเลือกใช้บริการ โฮสติ้ง/VPS จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยที่สำคัญหลักๆ คือ 1. Concurrent Users 2. ลักษณะการเข้าใช้งานเว็บไซด์ . เมื่อเราทราบรายละเอียดเหล่านี้แล้ว เราก็จะสามารถเลือกบริการ โฮสติ้ง/VPS ตามรูปแบบที่ได้แนะนำไปแล้ว เพื่อให้การรันเว็บไซด์ ราบรื่น เร็ว แรง เสถียร เหมาะกับลักษณะการใช้งานมากที่สุด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วยครับ
สุดท้าย: ที่ได้อธิบายรายละเอียดการเลือกใช้บริการ โฮสติ้ง/VPS มานี้ บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไม ผู้ให้บริการโฮสติ้งบางแห่ง ให้ใช้เพียงแค่ โฮสติ้ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็น VPS. ก็อาจจะเพราะว่าผู้ให้บริการโฮสติ้งเค้าจะตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึงนะครับ เพราะถ้าเว็บไซด์ไหนที่มีลักษณะการใช้งานผิดปกติ และกระทบกับระบบโฮสติ้งโดยรวม ผู้ให้บริการโฮสตั้ง เค้าก็จะระงับบริการหรือแจ้งเตือนให้ลูกค้าดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะโดยปกติแล้ว ผู้ให้บริการโฮสติ้ง เค้าอาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ทั่วถึง และไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่าเว็บไซด์ของลูกค้าทำไว้อย่างไรบ้าง เพราะลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงเว็บไซด์ ปรับแต่ง แก้ไขอยู่บ่อยๆ ( ซึ่งผู้ให้บริการโฮสติ้งส่วนใหญ่จะมีลูกค้าค่อนข้างเยอะ อาจจะ หลายพันเว็บไซด์ หรือ หลายหมื่นเว็บไซด์นะครับ )
Tags: concurrent, hosting, VPS
Trackback from your site.